SET

SET FX
Commodities are powered by Investing.com UK

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Neoliberalism แนวคิดยึดครองโลก



แนวคิดเสรีนิยมใหม่หรือNeoliberalismนั้นตกเป็นจำเลยสำคัญที่ทำให้"สินทรัพย์ของอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 3 คนบนโลก มีมูลค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศด้อยพัฒนาที่สุดรวมกัน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน"1 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แนวคิดนี้ทำงานอย่างไร เรามาศึกษากัน

โดยหลักๆแล้ว แนวคิดของเสรีนิยมใหม่คือ การค้าเสรีซึ่งหมายถึงการลดบทบาทของรัฐที่จะเข้ามาควบคุมตลาดให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นในแนวคิดเสรีนิยมใหม่จึงสนับสนุนให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้กิจการการค้าต่างๆมีการแข่งขันโดยเสรี เพราะนักเสรีนิยมใหม่นั้นเชื่อใน"มือที่มองไม่เห็น(invisible hand)ของตลาดเป็นกลไกที่ดีที่สุดสำหรับการทำให้สัญชาตญาณขั้นต่ำที่สุดของมนุษย์ เช่น ความตะกละ ละโมบ และความฝักใฝ่ในความมั่งคั่งและอำนาจ แปรเปลี่ยนกลายเป็นผลประโยชน์สำหรับทุกคน"2

ฟังดูดีใช่ไหมหล่ะ การแข่งขันโดยเสรี ทุกคนก็มีจะมีสิทธิเท่ากันในการแข่งขัน คนรวยก็จะกลายเป็นคนจนได้ ถ้าคนรวยไม่ขยันหรือไม่พัฒนาสินค้าของตนออกมาขายให้โดนใจตลาด ในขณะเดียวกันคนจนก็จะกลายเป็นคนรวยได้ ถ้าสามารถผลิตสินค้าออกมาให้โดนใจตลาดมากกว่าเจ้าของตลาดเดิม ดังนั้นในโลกยุคปัจจุบันเราเลยเห็นเศรษฐีเกิดใหม่อย่างMark Zuckerberg เจ้าของFacebook หรือการที่iphoneมาตีตลาดชิงส่วนแบ่งในตลาดมือถือจากเจ้าตลาดเดิมอย่างMotorolaหรือNokiaอย่างไม่เห็นฝุ่น ทั้งหมดก็เพราะการค้าเสรีเนี่ยหล่ะ ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เน้นให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจมาเป็นของเอกชน เพื่อให้ตลาดแข่งขันโดยเสรียังทำให้เรามีโอการเป็นเจ้าของหุ้นดีๆอย่าง ปตท.อีกด้วย 

แต่ในทัศนะของDavid Harvey เจ้าพ่อแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเสรีนิยมใหม่ไม่มองเช่นนั้น เขามองว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่นั้นเป็นการฟื้นฟูและการรักษาอำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งตั้งอยู่บนระบบทุนนิยมการเงิน เพราะการที่เอกชนเข้าไปแทนที่รัฐก็คือการให้เอกชนเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรของรัฐเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งของเอกชนนั่นเอง เพราะจากเมื่อก่อนกิจการสาธารณูปโภคต่างๆเป็นของรัฐ ดังนั้นราคาของสินค้าสาธารณูปโภคเหล่านี้ยังสามารถควบคุมโดยรัฐได้ แต่เมื่อเปลี่ยนไปสู่มือเอกชน ซึ่งมีแนวทางที่จะแสวงหากำไรสูงสุด ราคาของสาธารณูปโภคก็ควรจะตั้งที่ราคาที่ทำให้บรรษัทได้กำไรสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่าบางครั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงเป็นสิบเหรียญแต่ราคาขายหน้าปั๊มของปตท.ไม่ขยับลงเท่าไหร่

David Harveyโจมตีแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างมาก เพราะเขามองว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในสาธารณูปโภคต่างๆนั่นเอง มันจึงทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นไปอีกและคนจนก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม เพราะเสรีหรือใบเบิกทางสู่ความกินดีอยู่ดีในแนวคิดเสรีนิยมใหม่นั่นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจเงินตรา

ถ้ามันเป็นแนวคิดที่ทำให้คนรวยนั่นรวยยิ่งขึ้นไปอีก เป็นแนวคิดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายวงกว้างขึ้นไปอีก ทำไมแนวคิดนี้ถึงได้แผ่ขยายไปทั่วโลก เพราะเสน่ห์ของมันที่ทำให้ความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่คนยากจนในสังคมสามารถฝันถึงได้ ในสมัยโบราณ ความร่ำรวยนั้นกระจุกตัวอยู่เพียงชนชั้นปกครองเท่านั้น ถ้าคุณเกิดมาเป็นคนยากจนในสังคม ไม่ได้มีเส้นมีสายในแวดวงข้าราชการ ยากเหลือเกินที่คุณจะพ้นความยากจนมาได้ แต่ในระบบเสรีนิยมใหม่นั้น ถ้าคุณขยันและมีกึ๋นพอ ความร่ำรวยมหาศาลเป็นสิ่งที่คุณฝันถึงได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างที่กล่าวไปแล้ว เช่น Mark Zuckerberg เจ้าของFacebook เป็นต้น

แต่David Harveyไม่ได้มองเช่นนั้น เขามองว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นเพียงแนวคิดที่จะขจัดชนชั้นปกครองเก่าออกไป เพื่่อให้ชนชั้นผู้ประกอบการใหม่เข้ามาแทนเท่านั้น คือขจัดชนชั้นปกครองเดิมที่รักษาความมั่งคั่งไว้ได้ด้วยกฏหมายเก่าที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้ แล้วแทนที่ด้วยชนชั้นนำใหม่ที่มาพร้อมกับกฏหมายใหม่ที่เป็นใบเบิกทางถ่ายทอดความมั่งคั่งจากชนชั้นปกครองเดิมมาสู่ชนชั้นนำใหม่เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น" การที่มาร์กาเรต แทตเชอร์ โจมตีรูปแบบดั้งเดิมบางอย่างของอำนาจทางชนชั้นที่ฝังรากลึกในสังคมอังกฤษ แทตเชอร์พยายามทำลายจารีตชนชั้นผู้ดีเก่าแก่ที่ครอบงำกองทัพ ศาลและชนชั้นนำด้านการเงินการธนาคารในซิตีออฟลอนดอน และในหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรม แทตเชอร์หันมาเข้าข้างพวกผู้ประกอบการที่กล้าได้กล้าเสียและพวกกลุ่มเศรษฐีใหม่ อีกทั้งยังสนับสนุนและได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นผู้ประกอบการใหม่ (เช่น ริชาร์ด แบรนสัน ลอร์ด แฮนสัน และจอร์จ โซรอส)"3

ในหนังสือของDavid Harveyยังกล่าวเป็นนัยอีกว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นเพียงเครื่องมือที่รัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นเจ้าแห่งแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาความชอบธรรมในการยึดครองทรัพยากรของชาติอื่นด้วยคำว่าเสรีภาพ ดังเช่นสหรัฐอ้างว่าเพื่อเสรีภาพและความสงบสุขของประชาคมชาวโลก สหรัฐจึงจำเป็นต้องส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองอิรัก ตัวอย่างที่จะพอสนับสนุนเรื่องนี้ได้คือคำกล่าวของพอล เบรเมอร์ "ในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2003 เมื่อ พอล เบรเมอร์ ประธานคณะบริหารประเทศชั่วคราวของกองกำลังพันธมิตร (Coalition Provisional Authority) ประกาศระเบียบ 4 ประการ ดังนี้ "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ บริษัทต่างชาติมีสิทธิถือครองทรัพย์สินและธุรกิจในอิรักอย่างเต็มที่ ทุนต่างชาติสามารถส่งกำไรกลับประเทศได้หมด... เปิดให้ทุนต่างชาติสามารถควบคุมกิจการธนาคารของอิรักได้โดยสมบูรณ์ การปฎิบัติต่อบริษัทต่างชาติเยี่ยงคนในชาติ และ...การขจัดอุปสรรคที่กีดกันการค้าเกือบทั้งหมด ระเบียบเหล่านี้จะต้องนำไปปฏิบัติในทุกๆภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยรวมถึงการบริการสาธารณะ สื่อ อุตสาหกรรมการผลิต การบริการ ขนส่งมวลชน การเงินและการก่อสร้าง มีแต่อุตสาหกรรมน้ำมันที่ยกเว้น (คาดว่าเป็นเพราะน้ำมันมีสถานะพิเศษ กล่าวคือ เป็นรายได้หลักที่ผู้ผลิตต้องจ่ายชดเชยการทำสงครามและยังมีความสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์ด้วย)"4 จากคำกล่างข้างต้นคงจะแสดงให้เห็นได้แล้วว่าเสรีภาพที่สหรัฐย้ำหนักย้ำหนาให้ชาวโลกร่วมเดินในแนวทางของสหรัฐ นั่นมีนัยยะว่าเป็นเสรีภาพของบรรษัทเอกชนของสหรัฐที่จะเข้ายึดครองทรัพยากรของชาติอื่น

เราคงพอจะเห็นได้แล้วว่าแนวคิดเสรีนิยมนั้นนอกเหนือจะนำมาซึ่งเสรีภาพในปัจเจกบุคคลคือส่งเสริมให้คนในสังคมมีสิทธิเสรีในเรื่องต่างๆภาพใต้ขอบเขตของกฏหมายแล้ว แนวคิดนี้ยังนำมาซึ่งเสรีภาพของกลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มคนร่ำรวยมหาศาลในสังคมที่จะมีสิทธิ์เข้าไปถือครองทรัพยากรของชาติอื่นด้วย 


เอกสารอ้างอิง
1.มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey  ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หน้า VII ย่อหน้าที่ 2
2.มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey  ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หน้า 35 
3.ตัวอย่างนี้มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา  หน้า 52 ย่อหน้าที่ 1
4.มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey  ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หน้า 12 ย่อหน้าที่ 1

1 ความคิดเห็น: