SET

SET FX
Commodities are powered by Investing.com UK

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมแท้จริงควรเป็นเช่นไร

การลงทุนมีความเสี่ยง เราควรจะประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง คนส่วนมากเมื่อเห็นผลตอบแทนสูงๆ มักจะมองข้ามความเสี่ยงไปเลยสิ้นเชิง พูดอย่างนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ ให้นึกถึงตอนที่มีคนมาบอกเราว่าได้กำไรจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์และForexมาเยอะมาก เป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซนต์ในระยะเวลาแค่ไม่กี่วัน ทำให้เราตาลุกวาว อยากจะไปได้ผลตอบแทนอย่างนั้นบ้าง ก็ผลีผลามเข้าไปลงทุนโดยทันที คือมองแต่กำไรเลยทำให้มองข้ามความเสี่ยงไป เมื่อเข้าไปลงทุนแล้ว แรกๆจะด้วยสภาพตลาดอำนวยหรือว่าสวรรค์เป็นใจก็ตาม ทำให้ได้กำไรเป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซนต์ภายในไม่กี่วันอย่างที่ใครใครมาโฆษณาให้ฟัง ก็เลยฮึกเหิมดีใจใส่เงินเข้าไปลงทุนใหญ่ แต่พอไม่กี่วันถัดมาก็ขาดทุนและทำใจไม่ได้ทำให้ตัดขาดทุนไม่ได้ ทำให้เสียหายหนักกว่าที่เคยได้ เรียกได้ว่าคืนเขาแล้วยังต้องเข้าเนื้อตัวเองอีก ถ้าสถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นกับคุณมาก่อน คุณก็เป็นคนที่รับความเสี่ยงมากๆไม่ได้หรือไม่เหมาะกับสภาพตลาดที่ผันผวน ทนที่จะเห็นพอร์ตโตสุดขีดไปสรวงสวรรค์อย่างรวดเร็วได้ แต่ทนจะเห็นมันดิ่งลงนรกอย่างรวดเร็วไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ให้อยู่ไกลๆจากสินค้าที่มีความผันผวนสูง หลักการโดยทั่วไปคือเป็นพวกไม่ชอบเสี่ยงก็ต้องอยู่พวกที่ได้ผลตอบแทนต่ำๆ แต่แน่นอนพวกที่เสี่ยงมากก็ไปแสวงหาผลตอบแทนที่มากกว่าได้ High risk High return Low risk Low return ว่างั้น
แต่ในความเป็นจริงคนที่่รับความเสี่ยงได้มากก็มีวันที่มันบีบหัวใจเหมือนกัน เช่นพวกที่Overtrade เพราะหวังกำไรอย่างรวดเร็ว สุดท้ายอารมณ์มันบดบังไปหมด ไอ้ที่ได้วางแผนและจุดCut lossไว้อย่างดีก็เลยใจสั่นๆ
งั้นแบบไหนที่เรียกว่าพอดี เราไปทำtestวัดความสามารถในการรับความเสี่ยงกันดีไหม? วัดออกมาปรากฏว่าเราเสี่ยงได้ปานกลางค่อนไปทางสูง แต่ทำไมเวลาราคามันแกว่ง ใจมันหล่นไปที่ตาตุ่มทุกที คราวนี้ก็มานั่งคิดว่ามันจริงเหรอที่เราเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง

อันที่จริงแล้วจากประสบการณ์เรื่องความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ สิ่งที่ชี้วัดได้ดีที่สุดไม่ใช่หลักการที่บอกว่าคุณควรจะCut lossที่5%หรือ10%หรืออะไรก็ตาม ลองคิดดูว่าถ้าคุณเอาเงินเก็บที่มีอยู่1,000,000บาทไปลงทุน สิบเปอร์เซนต์เท่ากับ100,000บาท ถ้าเงินหนึ่งแสนไม่ได้ยากเย็นที่จะหาสำหรับคุณ มันก็ตัดขาดทุนได้ง่าย แต่ถ้าเงินหนึ่งแสนเป็นเท่ากับหนึ่งในสิบของเงินเก็บทั้งหมดที่คุณมีหล่ะ มันก็ยากใช่ไหม
ฉะนั้นที่แท้จริงแล้วความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนแล้วคิดว่าความเสี่ยงที่เหมาะสมเท่ากับจำนวนเงินที่ทำให้เรายังตัดขาดทุนได้ตามแผนที่วางไว้ ถ้าคุณมีเงิน1,000,000บาท แล้วคุณสามารถตัดขาดทุนได้โดนไม่ยากเย็นที่10,000บาท ฉะนั้นความเสี่ยงของคุณที่ยอมรับได้คือ1% อยากให้เป็น10%ก็ได้ แต่คุณต้องลดเงินที่เข้าลงทุนในแต่ละครั้งให้ลดลงเหลือ100,000 บาท ไม่ใช่เข้าทีเดียว1,000,000บาท

ดังนั้นความเสี่ยงที่เหมาะสมที่แท้จริงแล้วคือจุดตัดขาดทุนที่เรายังทำตามแผนการเทรดของเราได้ เมื่อมันถึงจุดตัดขาดทุน

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Moral Hazard


 Moral Hazardหรือจริยวิบัติคืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญนัก เรามาลองทำความเข้าใจกันดู Moral Hazardเป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นในวงการประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันอัคคีภัย เมื่อสังเกตุว่าเจ้าของทรัพย์สินซึ่งทำประกันความเสียหายเต็มวงเงินมีแนวโน้มอยากให้เกิดอัคคีภัยร้ายแรง แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับความเข้าใจในโลกการเงินหล่ะ ลองคิดตามดู ถ้ามีคนให้เงินคุณ1000 ล้าน เอาไปลงทุนอะไรก็ได้ กำไรดอกผลจากเงินลงทุนคุณได้ แต่ถ้าสูญไปทั้งหมดคุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คุณจะเสี่ยงสุดตัวเลยใช่ไหม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด แถมความเสี่ยงนั้นคุณก็ไม่ต้องรับ เพราะว่าเจ้าของเงินรับความเสี่ยงแทนคุณทั้งหมด นั่นหล่ะคือสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกการเงิน ผลตอบแทนของนายธนาคารและเทรดเดอร์นั้นมหาศาล โดยเอาเงินคนอื่นไปเสี่ยงแถมคุณยังต้องจ่ายค่าจ้างให้นายธนาคารและเทรดเดอร์เอาเงินไปเสี่ยงด้วย มันเป็นอาชีพที่ดีซะนี่กระไร คราวนี้เริ่มเข้าใจหรือยังว่าMoral Hazardมีบทบาทอย่างมากที่ทำให้โลกนี้อยู่บนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะเมื่อมันมีโบนัสก้อนโตล่อใจ นายธนาคารทั้งหลายก็เอาเงินออกไปแสวงหากำไรในธุรกรรมใดใดที่ทำให้เกิดกำไรสูงสุด โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอีกต่อไป เพราะถ้ามันไปได้ดีทุกคนHappy แต่ถ้ามันไปได้ไม่ดีก็แค่ประกาศล้มละลายแล้วรอให้รัฐบาลมาปัดกวาดเช็ดถูเท่านั้นเอง ถ้ายิ่งจะฉลาดไปกว่านั้นก็ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาแล้วปล่อยกู้ให้บริษัทลูกซะเลย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทีไร เราจึงเห็นรัฐบาลเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน คนที่รวยก็เครือญาตินักการเมืองหรือนายธนาคารที่ให้เงินนักการเมืองทั้งหลาย ส่วนผู้เสียหายก็คือประชาชน นอกจากจะสูญเงินที่ฝากแล้วยังต้องเอาภาษีไปอุ้มสถาบันการเงินพวกนี้อีก โอ้..โลกนี้ช่างสวยงาม

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Shock Therapyกับดักของคนโลภ

หลังจากเราเรียนรู้เรื่องNeoliberalismกันแล้ว ถึงเวลาที่จะเรียนรู้เครื่องมือสำคัญของNeoliberalismที่ใช้ยึดครองทรัพย์สินของประเทศหนึ่งๆนั่นคือShock Therapy 
มาดูความหมายของเครื่องมือนี้กันก่อน Shock therapyเป็นเครื่องมือที่IMFใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะใช้วิธีลอยตัวราคาสินค้าและอัตราแลกเปลี่ยนทันที รวมทั้งสั่งให้ประเทศนั้นๆ เปิดเสรีทางการค้า แปรรูปรัฐวิสาหกิจและสาธารณูปโภค เปิดประเทศให้การลงทุนจากต่างชาติเข้ามา เริ่มคุ้นๆกันแล้วใช่ไหม? ใช่แล้ว.. มันเป็นวิธีที่่IMFสั่งให้ประเทศไทยใช้ในช่วงที่เราเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง 

ในเมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ถ้าเราต้องยืมเงินจากIMF ก็ต้องทำตามเงื่อนไขของIMF คือยอมเปิดทางให้คนของเค้าเข้ามาshoppingซื้อสมบัติของชาติเราได้อย่างสบายใจ นโยบายนี้ก็ไม่ได้แย่ซะทีเดียวเพราะเมื่อมองในทางเศรษฐศาสตร์การลดค่าเงินจะทำให้สินค้าของประเทศนั้นๆแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก เมื่อของมันถูกและมีคนเข้ามาซื้อเยอะๆ เวลาผ่านไปเศรษฐกิจก็จะฟื้นขึ้นมาได้

แต่ในที่นี้เราวิจารณ์ในเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดประเทศให้การลงทุนของต่างชาติเข้ามาได้เสรีมากขึ้น ซึ่งเป็นแกนหลักของNeoliberlism จะเข้าใจให้ลึกซึ้งในเรื่องนี้เราต้องเข้าใจโลกกันซะใหม่ในแนวทางของทฤษฎีผลประโยชน์ เพราะการเข้าใจทฤษฎีผลประโยชน์จะทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆที่อยู่ข้างหลังนโยบายของรัฐและทฤษฏีทางเศรษฐกิจและการเงินต่างๆที่เราเรียนกันในสถาบันการศึกษา

เพื่อความเข้าใจในทฤษฏีผลประโยชน์ซึ่งผลักดันไปสู่แนวคิดNeoliberalismและนำไปสู่shock therapyของIMF เรามาดูตัวอย่างนี้กัน สมมุติว่าเราเป็นอภิมหาเศรษฐีมีเงินอยู่ล้นฟ้า แต่สมบัติที่อยากได้มันถูกกีดขวางไม่ให้เป็นเจ้าของด้วยเหตุบางประการ เช่น ในกรณีนี้คือกฏหมายของประเทศนึงๆที่ออกมาควบคุมการถือครองทรัพย์สินของคนต่างชาติ คนที่มีเงินอยู่ล้นฟ้าอย่างอภิมหาเศรษฐีของโลกเค้าก็แค่รอวันที่คนในประเทศนั้นผิดพลาดด้วยความโลภของคนในชาตินั้นเองแล้วให้องค์กรที่เขามีอำนาจควบคุมได้เข้าไปช่วยเหลือพร้อมกับเสนอเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อเขา อย่างในประเทศไทยตอนนั้น คนไทยแห่ไปกู้เงินจากต่างประเทศมาเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ แต่อัตราแลกเปลี่ยนของเราถูกกำหนดตายตัว คิดดูว่าค่าเงินบาทของเราบิดเบือนไปจากกฏของDemandและSupplyขนาดไหน เป็นช่องให้Hedge fundขนาดใหญ่เข้ามาโจมตีค่าเงิน และเมื่อวันนึงธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถจะปกป้องค่าเงินบาทได้อีกต่อไป คนต่างชาติพวกนั้นก็ได้กำไรสองเด้งคือกำไรค่าเงินและการได้shoppingซื้อทรัพยากรของเราและบริษัทต่างๆในราคาที่ถูกกว่าเดิม ในตอนนั้นบริษัทและธนาคารต่างๆในประเทศต่างยินยอมด้วยความกล้ำกลืนปนโล่งอก เพราะถึงต้องให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นก็ยังดีซะกว่าที่จะปล่อยให้บริษัทและธนาคารที่บรรพบุรษสร้างมาเจ๊งไปในยุคของตน บริษัทและธนาคารต่างๆในตอนนั้นต้องเพิ่มทุนด้วยการพึ่งเงินลงทุนของต่างชาติเพราะคนในประเทศไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าไปซื้อกิจการเหล่านั้น ฉะนั้นบริษัทและธนาคารของไทยต่างๆเลยกลายเป็นลูกครึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังนั้นถ้าจะกล่าวโทษใครสักคนที่ทำให้ประเทศไทยต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆและทำให้บริษัทใหญ่ๆของไทยในวันนี้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกันเต็มไปหมด เราคงโทษใครไม่ได้นอกจากความโลภของเราเอง ถ้าในวันนั้นเราไม่ได้โลภมาก หลงภาพกับฟองสบู่ใบโต IMFไม่มีทางจะใช้shock therapyกับเราได้เลย เมื่อรู้เช่นนี้แล้วจะไม่เรียกshock therapyว่าเป็นกับดักของคนโลภได้อย่างไร

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Neoliberalism แนวคิดยึดครองโลก



แนวคิดเสรีนิยมใหม่หรือNeoliberalismนั้นตกเป็นจำเลยสำคัญที่ทำให้"สินทรัพย์ของอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 3 คนบนโลก มีมูลค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศด้อยพัฒนาที่สุดรวมกัน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน"1 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แนวคิดนี้ทำงานอย่างไร เรามาศึกษากัน

โดยหลักๆแล้ว แนวคิดของเสรีนิยมใหม่คือ การค้าเสรีซึ่งหมายถึงการลดบทบาทของรัฐที่จะเข้ามาควบคุมตลาดให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นในแนวคิดเสรีนิยมใหม่จึงสนับสนุนให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้กิจการการค้าต่างๆมีการแข่งขันโดยเสรี เพราะนักเสรีนิยมใหม่นั้นเชื่อใน"มือที่มองไม่เห็น(invisible hand)ของตลาดเป็นกลไกที่ดีที่สุดสำหรับการทำให้สัญชาตญาณขั้นต่ำที่สุดของมนุษย์ เช่น ความตะกละ ละโมบ และความฝักใฝ่ในความมั่งคั่งและอำนาจ แปรเปลี่ยนกลายเป็นผลประโยชน์สำหรับทุกคน"2

ฟังดูดีใช่ไหมหล่ะ การแข่งขันโดยเสรี ทุกคนก็มีจะมีสิทธิเท่ากันในการแข่งขัน คนรวยก็จะกลายเป็นคนจนได้ ถ้าคนรวยไม่ขยันหรือไม่พัฒนาสินค้าของตนออกมาขายให้โดนใจตลาด ในขณะเดียวกันคนจนก็จะกลายเป็นคนรวยได้ ถ้าสามารถผลิตสินค้าออกมาให้โดนใจตลาดมากกว่าเจ้าของตลาดเดิม ดังนั้นในโลกยุคปัจจุบันเราเลยเห็นเศรษฐีเกิดใหม่อย่างMark Zuckerberg เจ้าของFacebook หรือการที่iphoneมาตีตลาดชิงส่วนแบ่งในตลาดมือถือจากเจ้าตลาดเดิมอย่างMotorolaหรือNokiaอย่างไม่เห็นฝุ่น ทั้งหมดก็เพราะการค้าเสรีเนี่ยหล่ะ ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เน้นให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจมาเป็นของเอกชน เพื่อให้ตลาดแข่งขันโดยเสรียังทำให้เรามีโอการเป็นเจ้าของหุ้นดีๆอย่าง ปตท.อีกด้วย 

แต่ในทัศนะของDavid Harvey เจ้าพ่อแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเสรีนิยมใหม่ไม่มองเช่นนั้น เขามองว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่นั้นเป็นการฟื้นฟูและการรักษาอำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งตั้งอยู่บนระบบทุนนิยมการเงิน เพราะการที่เอกชนเข้าไปแทนที่รัฐก็คือการให้เอกชนเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรของรัฐเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งของเอกชนนั่นเอง เพราะจากเมื่อก่อนกิจการสาธารณูปโภคต่างๆเป็นของรัฐ ดังนั้นราคาของสินค้าสาธารณูปโภคเหล่านี้ยังสามารถควบคุมโดยรัฐได้ แต่เมื่อเปลี่ยนไปสู่มือเอกชน ซึ่งมีแนวทางที่จะแสวงหากำไรสูงสุด ราคาของสาธารณูปโภคก็ควรจะตั้งที่ราคาที่ทำให้บรรษัทได้กำไรสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่าบางครั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงเป็นสิบเหรียญแต่ราคาขายหน้าปั๊มของปตท.ไม่ขยับลงเท่าไหร่

David Harveyโจมตีแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างมาก เพราะเขามองว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในสาธารณูปโภคต่างๆนั่นเอง มันจึงทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นไปอีกและคนจนก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม เพราะเสรีหรือใบเบิกทางสู่ความกินดีอยู่ดีในแนวคิดเสรีนิยมใหม่นั่นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจเงินตรา

ถ้ามันเป็นแนวคิดที่ทำให้คนรวยนั่นรวยยิ่งขึ้นไปอีก เป็นแนวคิดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายวงกว้างขึ้นไปอีก ทำไมแนวคิดนี้ถึงได้แผ่ขยายไปทั่วโลก เพราะเสน่ห์ของมันที่ทำให้ความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่คนยากจนในสังคมสามารถฝันถึงได้ ในสมัยโบราณ ความร่ำรวยนั้นกระจุกตัวอยู่เพียงชนชั้นปกครองเท่านั้น ถ้าคุณเกิดมาเป็นคนยากจนในสังคม ไม่ได้มีเส้นมีสายในแวดวงข้าราชการ ยากเหลือเกินที่คุณจะพ้นความยากจนมาได้ แต่ในระบบเสรีนิยมใหม่นั้น ถ้าคุณขยันและมีกึ๋นพอ ความร่ำรวยมหาศาลเป็นสิ่งที่คุณฝันถึงได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างที่กล่าวไปแล้ว เช่น Mark Zuckerberg เจ้าของFacebook เป็นต้น

แต่David Harveyไม่ได้มองเช่นนั้น เขามองว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นเพียงแนวคิดที่จะขจัดชนชั้นปกครองเก่าออกไป เพื่่อให้ชนชั้นผู้ประกอบการใหม่เข้ามาแทนเท่านั้น คือขจัดชนชั้นปกครองเดิมที่รักษาความมั่งคั่งไว้ได้ด้วยกฏหมายเก่าที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้ แล้วแทนที่ด้วยชนชั้นนำใหม่ที่มาพร้อมกับกฏหมายใหม่ที่เป็นใบเบิกทางถ่ายทอดความมั่งคั่งจากชนชั้นปกครองเดิมมาสู่ชนชั้นนำใหม่เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น" การที่มาร์กาเรต แทตเชอร์ โจมตีรูปแบบดั้งเดิมบางอย่างของอำนาจทางชนชั้นที่ฝังรากลึกในสังคมอังกฤษ แทตเชอร์พยายามทำลายจารีตชนชั้นผู้ดีเก่าแก่ที่ครอบงำกองทัพ ศาลและชนชั้นนำด้านการเงินการธนาคารในซิตีออฟลอนดอน และในหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรม แทตเชอร์หันมาเข้าข้างพวกผู้ประกอบการที่กล้าได้กล้าเสียและพวกกลุ่มเศรษฐีใหม่ อีกทั้งยังสนับสนุนและได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นผู้ประกอบการใหม่ (เช่น ริชาร์ด แบรนสัน ลอร์ด แฮนสัน และจอร์จ โซรอส)"3

ในหนังสือของDavid Harveyยังกล่าวเป็นนัยอีกว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นเพียงเครื่องมือที่รัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นเจ้าแห่งแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาความชอบธรรมในการยึดครองทรัพยากรของชาติอื่นด้วยคำว่าเสรีภาพ ดังเช่นสหรัฐอ้างว่าเพื่อเสรีภาพและความสงบสุขของประชาคมชาวโลก สหรัฐจึงจำเป็นต้องส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองอิรัก ตัวอย่างที่จะพอสนับสนุนเรื่องนี้ได้คือคำกล่าวของพอล เบรเมอร์ "ในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2003 เมื่อ พอล เบรเมอร์ ประธานคณะบริหารประเทศชั่วคราวของกองกำลังพันธมิตร (Coalition Provisional Authority) ประกาศระเบียบ 4 ประการ ดังนี้ "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ บริษัทต่างชาติมีสิทธิถือครองทรัพย์สินและธุรกิจในอิรักอย่างเต็มที่ ทุนต่างชาติสามารถส่งกำไรกลับประเทศได้หมด... เปิดให้ทุนต่างชาติสามารถควบคุมกิจการธนาคารของอิรักได้โดยสมบูรณ์ การปฎิบัติต่อบริษัทต่างชาติเยี่ยงคนในชาติ และ...การขจัดอุปสรรคที่กีดกันการค้าเกือบทั้งหมด ระเบียบเหล่านี้จะต้องนำไปปฏิบัติในทุกๆภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยรวมถึงการบริการสาธารณะ สื่อ อุตสาหกรรมการผลิต การบริการ ขนส่งมวลชน การเงินและการก่อสร้าง มีแต่อุตสาหกรรมน้ำมันที่ยกเว้น (คาดว่าเป็นเพราะน้ำมันมีสถานะพิเศษ กล่าวคือ เป็นรายได้หลักที่ผู้ผลิตต้องจ่ายชดเชยการทำสงครามและยังมีความสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์ด้วย)"4 จากคำกล่างข้างต้นคงจะแสดงให้เห็นได้แล้วว่าเสรีภาพที่สหรัฐย้ำหนักย้ำหนาให้ชาวโลกร่วมเดินในแนวทางของสหรัฐ นั่นมีนัยยะว่าเป็นเสรีภาพของบรรษัทเอกชนของสหรัฐที่จะเข้ายึดครองทรัพยากรของชาติอื่น

เราคงพอจะเห็นได้แล้วว่าแนวคิดเสรีนิยมนั้นนอกเหนือจะนำมาซึ่งเสรีภาพในปัจเจกบุคคลคือส่งเสริมให้คนในสังคมมีสิทธิเสรีในเรื่องต่างๆภาพใต้ขอบเขตของกฏหมายแล้ว แนวคิดนี้ยังนำมาซึ่งเสรีภาพของกลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มคนร่ำรวยมหาศาลในสังคมที่จะมีสิทธิ์เข้าไปถือครองทรัพยากรของชาติอื่นด้วย 


เอกสารอ้างอิง
1.มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey  ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หน้า VII ย่อหน้าที่ 2
2.มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey  ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หน้า 35 
3.ตัวอย่างนี้มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา  หน้า 52 ย่อหน้าที่ 1
4.มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย David Harvey  ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หน้า 12 ย่อหน้าที่ 1

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Moving Averagesตอนที่ 1

วันนี้มาพูดถึงindicatorที่แสนจะง่ายดายแต่ซ่อนไว้ซึ่งความมหัศจรรย์นั่นคือMoving Averages

Moving Averagesคำนวณกันง่ายๆจากการเอาราคาย้อนหลังมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนของข้อมูลที่เอามารวมกัน

เช่น Price1+Price2+Price3 ดังนั้นชุดข้อมูลนี้มีจำนวนข้อมูลที่นำมาคำนวณเท่ากับ 3

ดังนั้นเราจะหาMoving Averagesได้โดย

 (Price1+Price2+Price3)/3

คำนวณง่ายๆแบบนี้ก็เรียกกันง่ายๆว่า Simple Moving Averages(SMA)

แต่ด้วยความที่มันคำนวณง่ายเนี่ยหล่ะ เวลานำมาใช้อาจจะเกิดFalse SignalหรือมีNoiseหรือภาษาไทยง่ายๆคือเสียงรบกวนหรือสิ่งรบกวน

เอาเป็นว่ามันกวนให้เราเขวได้เวลาเทรดแล้วกัน

(เขียนเรื่องง่ายๆแล้วต้องเอาคำศัพท์ให้ง่ายเอาไว้)

ดังนั้นเลยมีนักคิดว่าเราควรจะกำจัดสิ่งรบกวนนี้ซะเพื่อให้การเทรดของเราราบรื่นขึ้น 
ถ้าเปรียบเป็นรถวิ่งก็คือจากที่วิ่งกันบนถนนขรุขระก็มาวิ่งบนถนนลาดยางแทน 
ดังนั้นจึงเกิดการคำนวณที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยเลยได้Exponential Moving Averages(EMAขึ้นมา 
คราวนี้เรียบแล้วนิ่มแล้ว อยากรู้แล้วใช่ไหมว่าใช้ยังไง

พื้นฐานง่ายๆข้อที่หนึ่งของMoving Averagesคือใช้หาเทรนหรือแนวโน้มของราคานั่นเอง

ใช้ได้แค่เนี้ยเองเหรอ ไม่เอาแล้วเลิกอ่าน เสียเวลา แค่หาเทรนเนี่ยนะ 
มองปุ๊บก็รู้แล้วไม่ได้ตาบอดเว้ยเฮ้ย คิดยังงั้นกันใช่ไหม? งั้นดูรูปนี้



เห็นแล้วอยากจะซื้อตรงตามลูกศรใช่ไหมหล่ะ เพราะราคามันย้ำlowกันอยู่ตรงนั้น ซื้อแล้วรอหน่อยเดี๋ยวคงกลับขึ้นไปรวยอื้อซ่าเลย

คราวนี้มาดูรูปต่อไปหลังจากเอาMoving Averages แบบง่ายๆคือ
Simple Moving Averages เส้น 200 วันมาใส่



เห็นได้ชัดเลยว่าตอนนี้ราคาซื้อขายอยู่ต่ำกว่าเส้น 200 วัน
ถือได้ว่าในแนวโน้มใหญ่ยังอยู่ในแนวโน้มขาลง แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะยังดื้อต่อไป

แถมยังคิดเข้าข้างตัวเองด้วยว่าอาจจะกำลังกลับตัวขึ้นก็ได้มั้ง??
เค้าจะซื้อที่lowอย่ามาห้ามนะเค้านะ
คิดยังงั้นใช่ไหม? งั้นดูภาพขยาย



คราวนี้เห็นหรือยังว่ามันเป็นแนวโน้มขาลงอย่างชัดเจน
เห็นด้วยตาเปล่าและคอนเฟิร์มด้วยเส้น 200 วันขนาดนี้ ยอมแล้วใช่ไหม? จะยังดื้ออีกแล้วหรือเปล่า?

เขียนมาถึงตรงนี้เราก็ได้รู้พื้นฐานเบื้องต้นแล้วว่าเส้นMoving Averagesสามารถช่วยเราให้หาเทรนได้ จะได้ไม่เทรดสวนเทรน เรามาสรุปพื้นฐานข้อที่หนึ่งด้วยรูปกัน

จากรูปจะเห็นได้ว่าตราบใดที่ราคายังยืนอยู่เหนือเส้นMoving Averagesในที่นี้คือเส้น 200 วัน
เราควรที่จะหาจังหวะเข้าซื้อมากกว่าที่จะหาจังหวะขาย ต่อเมื่อแนวโน้มเปลี่ยนแล้วเท่านั้นคือราคาอยู่ต่ำกว่าเส้นMoving Averagesเราจึงควรหาจังหวะขายมากกว่าซื้อ

แค่ง่ายๆแค่นี้เราก็ได้สามารถรู้ได้แล้วว่าPositionที่เราถืออยู่อยู่ฝั่งเดียวกับMr.Marketหรือเปล่า 


**โปรดติดตามเรื่องของMoving Averagesในตอนต่อไป**

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปัญหาของกรีซ:ความจริงที่ใกล้ตัว

วันนี้หลังจากอ่านหนังสือBoomerageที่เขียนโดยMichael Lewisจบ ก็เกิดความคิดว่าน่าจะเขียนอะไรบางอย่างไว้เตือนตัวเองถึงความรู้ที่สำคัญที่ได้จากหนังสือเล่มนี้สักหน่อย หลังจากอ่านจบ พบว่าปัญหาเศรษฐกิจที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่นี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเอาเงินกู้ระยะสั้นมาใช้ในการลงทุนระยะยาว
ใครเรียนทางด้านการเงินมาก็คงรู้ว่ามันละเมิดกฏพื้นฐานของวิชาการเงินเบื้องต้น พื้นฐานง่ายๆที่นักการเงินทุกคนต้องรู้เลยทีเดียว มันเป็นกฎต้องห้ามแบบbasicที่ผู้เขียนขอเรียกว่าFinance for Dummiesเลยแล้วกัน แต่จุ๊ๆ..รู้ไหมว่าที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งก็เพราะเรื่องนี้เหมือนกัน นักลงทุนไทยในสมัยนั้นเอาเงินกู้ระยะสั้นราคาถูกจากต่างประเทศมาลงทุนระยะยาว อ่านมาถึงตรงนี้แล้วงงไหมว่าบทเรียนเคยมีอยู่แล้ว ตัวอย่างจริงแบบเจ็บจริงก็มีให้เรียนรู้แล้ว ทำไมประเทศในยุโรปยังผิดซ้ำ เพราะความโลภไงหล่ะพี่น้อง ความโลภตัวเดียวทำลายล้างทุกอย่าง

มาหาข้อแก้ต่างให้กับมวลมนุษยชาติกันหน่อย บางทีอาจจะไม่ใช่แค่ความโลภอย่างเดียวก็ได้ บางทีมนุษย์เราอาจจะถูกสร้างมาให้เป็นแบบนี้ ดร.ปีเตอร์ วายโบลว์ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้บอกไว้ว่า"เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับความขาดแคลน สิ่งเย้ายวนตรงหน้าก็ยากเกินกว่าจะห้ามใจ" ดร.วายโบลว์ได้ยกตัวอย่างถึงคนที่กำลังอดอาหารและเจอเค้กชอคโกแลตตรงหน้า เมื่ออดอยากมานาน ความรู้สึกว่าการกินเค้กชอคโกแลตเป็นเรื่องผิดก็หายไป หรือพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่ามนุษย์จะสูญเสียความควบคุมตนเองและยินยอมที่จะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระยะยาวไปเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ถ้าถึงตรงนี้ผู้อ่านคงเริ่มงงว่าเรื่องนี้มาเกี่ยวอะไรด้วยกับความวิบัติทางเศรษฐกิจที่คนทั่วโลกเผชิญอยู่นี้
ลองมองย้อนกลับไปที่การเอาเงินกู้ระยะสั้นมาใช้ในการลงทุนระยะยาว ใช่!! มนุษย์การเงินรู้ว่ามันผิด แต่เงินที่กองตรงหน้าผลประโยชน์มหาศาลที่จะได้รับในตอนนี้มันบังตาไปหมด ประกอบด้วยเศรษฐกิจกำลังบูมด้วยก็เลยคิดเข้าข้างตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอกน่า เดี๋ยวโครงการนี้เสร็จมันจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าและเราจะหาเงินมาใช้เจ้าหนี้ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน เอาใกล้ตัวเข้ามาหน่อยดีกว่า รู้ไหมว่ากรีซกำลังล้มละลายเพราะอะไร เพราะการใช้จ่ายเกินตัวและการจัดเก็บภาษีไม่ได้ ตอนนี้ผู้อ่านคงยังงงว่าการใช้การเกินตัวในภาครัฐหมายถึงอะไร ลองมองภาพอย่างนี้ว่าถ้ารัฐช่วยคุณทุกอย่าง ให้ค่าจ้างคุณแพงๆ จะซื้อหาอะไรก็เข้ามาช่วยจ่ายให้ มันดีใช่ไหมหล่ะ แต่คุณเคยเฉลียวใจคิดสักนิดไหมว่ารัฐเอาเงินมาจากไหน ใช่แล้ว!!..ภาษีที่คุณจ่ายไป รัฐจ่ายให้คุณเพียบเลยแต่เก็บภาษีไม่ได้ แน่นอนเลยคำว่าเจ๊งรออยู่ข้างหน้า ปัญหาของกรีซมันเป็นอย่างนั้น รัฐช่วยเพียบเพราะนโยบายประชานิยมแต่เก็บภาษีไม่ได้เพราะคนกรีซชอบเลี่ยงภาษีมันก็ต้องเจ๊งแน่นอน คราวนี้กลับไปที่เค้กชอคโกแลตของเรา เอาตัวอย่างนั้นมาประยุกต์ใช้กับเรื่องนี้เราพอจะได้ideaว่าทำไมรัฐที่รู้ทั้งรู้ว่านโยบายลด แลก แจก แถมจะทำให้เกิดผลเสียในอนาคตยังคงยืนกรานที่จะทำต่อไป เหตุผลก็คือรัฐถูกบริหารด้วยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน คนเรามีความโลภ ก็เมื่อนโยบายประชานิยมทำให้ฉันชนะเลือกตั้ง ทำให้ฉันมีอำนาจ ทำให้ฉันและพรรคพวกอิ่มหมีพลีมันไปได้อีกสักห้าปี ถ้าเศรษฐกิจมันจะแย่ในอีกสิบปีข้างหน้าก็ช่างมันเถอะ เพราะป่านนั้นฉันและพรรคพวกก็โกยเงินไปได้เยอะจนเศรษฐกิจจะพังแต่ฉันก็มีปัญญาซื้อข้าวของที่ราคาแพงขึ้น คราวนี้มามองส่วนประชาชนกันบ้าง ประชาชนก็เหมือนกัน เอาน่า..ฉันรู้ว่าถ้าฉันไม่จ่ายภาษี ประเทศจะไม่มีเงินไปพัฒนาประเทศ แต่ถ้าฉันเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีได้ เงินส่วนที่ฉันไม่ต้องเสียภาษีนี้ ฉันเอาไปส่งค่าเทอมลูกได้สบาย ฉันไม่เสียภาษีสักคน ประเทศก็ยังอยู่ได้ดี ขอฉันเอาเงินส่วนนี้ไปแก้ขัดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังในครอบครัวของฉันในวันนี้ก่อนแล้วกันนะ เรื่องอนาคตของประเทศในวันข้างหน้ามันยังไกลไป แต่ที่รู้วันนี้คือถ้าฉันต้องเอาเงินก้อนนี้ไปเสียภาษีลูกฉันอาจจะไม่ได้เรียน จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าทั้งผู้บริหารรัฐและประชาชนต่างยินยอมสูญเสียที่จะสละประโยชน์ระยะยาวเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น อาจจะด้วยเหตุผลว่าหายนะที่จะเกิดในวันข้างหน้ามันยังเห็นภาพไม่ชัดเท่าความซวยที่จะเกิด ณ ตอนนี้ก็เป็นได้ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นกับกรีซ รัฐมีรายจ่ายท่วมหัวจากนโยบายประชานิยม แต่จัดเก็บภาษีไม่ได้ คนที่เสียภาษีในกรีซคือคนที่ทำงานบริษัทเท่านั้นเพราะมันต้องหัก ณ ที่จ่าย ส่วนคนอื่นๆที่เสียภาษีก็ไม่ได้เสียภาษีเต็มจำนวน ต่างก็เลี่ยงภาษีกันทั้งนั้นแล้วถ้าสรรพากรรู้เข้าก็แค่ให้สินบนมันก็จบเรื่อง อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านรู้สึกหรือยังว่าปัญหาของกรีซมันใกล้ตัวกว่าที่เราคิด สังคมกรีซมันคล้ายๆสังคมของใครหว่า??

ติดตามอัพเดทอื่นๆได้ที่ http://www.facebook.com/pages/Zinnia-B-trader/418152871578133?ref=hl

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเปิดบัญชีต่างประเทศตอนที่ 2



การเปิดบัญชีต่างประเทศตอนที่ 2
สิงคโปร์
บัญชีธนาคาร
เนื่องจากยังไม่เคยเดินทางไปเปิดบัญชีธนาคารที่สิงคโปร์ด้วยตัวเอง ได้แต่ส่งจดหมายและโทรไปถามทางธนาคาร ข้อมูลที่ได้จึงเป็นข้อมูลที่ได้รับมาจากธนาคารและเพื่อนๆที่มีประสบการณ์แล้วเท่านั้น
จากการสอบถามทางธนาคารขอเริ่มที่CItibankก่อน การที่จะเปิดบัญชีได้นั้น เราจะต้องมีRelationship Managerคอยดูแลเราเพราะทางธนาคารถือว่าเราเป็นOff-shore accountต้องมีคนที่อยู่สิงคโปร์referให้ ในที่นี้ก็คือRelationship Managerนั่นเอง หลังจากนั้นจะต้องมีเงินฝากกับทางธนาคารอย่างน้อย USD25,000และต้องรักษายอดเงินคงเหลือไม่ต่ำกว่านี้ทุกๆเดือนไม่งั้นเสียค่ารักษาบัญชี USD 30ต่อเดือน ถ้าคิดจะเปิดบัญชีแล้วพอโอนเงินเข้าพอร์ทซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ที่เราเปิดทิ้งไว้กับที่อื่นแล้วชิ่งปิดบัญชีธนาคารหนีก็ไม่ได้ เพราะถ้าเปิดบัญชีแล้วปิดไปก่อนจะครบ 3 เดือน จะต้องเสียค่าปรับ USD 300แต่อย่างไรก็ตามยอดเงินUSD 25,000นี้สามารถไปอยู่ในบริการอื่นของธนาคารได้ เช่น เอาไปซื้อหุ้นทิ้งไว้ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ได้ เป็นต้น (แต่ทางCitibankมีแต่หุ้น ไม่ให้เล่นFutures คนที่อยากเปิดบัญชีเพื่อซื้อขาย Futures ต้องผิดหวังไปตามระเบียบ ยกเว้นมีเงินสัก USD 50,000 เอาUSD25,000ไปทิ้งไว้กับCitibankแล้วเอาอีกUSD25,000ออกไปเทรดกับที่อื่น)
อีกที่หนึ่งที่ติดต่อเข้าไปสอบถามดูคือOCBC อันนี้หนักกว่าเดิมคือต้องมีเงินSGD 200,000หรือประมาณUSD 162,866.40(ตามอัตราแลกเปลี่ยนOff-shoreวันที่17/11/2555) เงื่อนไขก็คือเหมือนกันคือต้องมีRelationship Managerคอยดูแลและต้องรักษายอดเงินคงเหลือขั้นต่ำในบัญชีไม่ต่ำกว่านี้ในทุกๆเดือน สามารถเอาเงินนี้ไปอยู่ในบริการอื่นของธนาคารได้เช่นกัน
ดังนั้นการเปิดบัญชีธนาคารที่สิงคโปร์สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีWork permitหรือStudent visaในประเทศสิงคโปร์สามารถทำได้ แต่ปัญหาก็คือคุณมีเงินมากพอหรือเปล่าเพราะถ้าต้องเอาเงินคงเหลือทิ้งไว้ในบัญชีอย่างน้อยUSD 25,000ซึ่งตีเป็นเงินไทยประมาณ 768,826.68 (ตามอัตราแลกเปลี่ยนOff-shoreวันที่17/11/2555) ถ้าคุณมีเงินออกไปลงทุน1,000,000บาท เงินที่เหลือที่จะโอนออกไปเล่นกับBrokerก็เหลือไม่พอที่จะเล่นได้แล้ว
ถ้าคุณมีเงินมากพอก็เตรียมเอกสารข้างล่างนี้แล้วติดต่อกับธนาคารที่สิงคโปร์ได้เลย
1.Passport
2.เงิน
ง่ายไหม? แค่นี้หล่ะ อย่างอื่นเดี๋ยวคุณไปคุยกับธนาคารได้ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนไปดิ้นรนเปิดบัญชีที่ฮ่องกงแล้วจนตรอก เพื่อนผู้ล่ำซำ(ไม่ใช่ผู้เขียน)เลยติดต่อไปทางOCBCสิงคโปร์เพื่อจะเปิดบัญชีธนาคาร ทางOCBCสิงคโปร์ประสานงานกับทางOCBCฮ่องกงแล้วไปเซ็นเอกสารที่OCBCฮ่องกงเพื่อจะเปิดบัญชีกับOCBCสิงคโปร์ได้เลย ง่ายดายสบายอารมณ์มาก ผู้เขียนได้แต่มองตาปริบๆ นึกสงสารตัวเอง นึกในใจว่ามีเงินมากๆมันดีอย่างนี้นี่เอง ไม่ว่าอยู่ที่ไหนบนโลกก็จะมีคนวิ่งหาคุณ ช่วยเรื่องยากๆกลายเป็นเรื่องง่ายๆในพริบตา
บัญชื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์
ทำได้ง่ายๆ เปิดได้อย่างเสรี ขอให้มีเอกสารครบคือ
1.สำเนาPassport
2.Proof of address ขอให้เป็นภาษาอังกฤษเป็นอันใช้ได้ ไม่เป็นภาษาอังกฤษแปลเองก็ได้ ไม่ได้เคร่งครัดอะไร แต่ถ้าเป็นSaxo bankก็เหมือนเดิมคือถ้าไม่ได้ไปด้วยตัวเองต้องเอาสำเนาทุกสิ่งอันไปให้Notary publicหรือPracticing lawyerรับรองให้ก่อน
3.เงินในบัญชีขั้นต่ำแล้วแต่ที่Brokerกำหนด (Saxo Bank:SGD 10,000)
หลังจากที่เพื่อนๆอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สำหรับCitibankมีให้กรอกapplication form online เพื่อนๆจะเสี่ยงดูก็ได้ ถ้าทางธนาคารยอมให้เปิดแบบไม่มีaccount managerมาคอยดูแล ก็เริ่มต้นบัญชีแค่SGD 3,000 พอกรอกเสร็จจะมีเจ้าหน้าที่จากCitibankโทรมาถามว่าต้องการเปิดบัญชีไปเพื่ออะไร ถ้าผู้เขียนลองแล้วเขาไม่ยอมให้เปิด หรืออีกในกรณีหนึ่งลองเสี่ยงปิดไปเปิดด้วยตัวเองที่สิงคโปร์ เพราะเหมือนว่าเงื่อนไขพวกนี้สำหรับคนที่ไม่สามารถบินไปเปิดเองได้ แต่เท่าที่ผู้เขียนลองเช็คดูกับเพื่อนที่อยู่สิงคโปร์ เขาบอกว่าถ้าเราเป็นแค่นักท่องเที่ยวไม่สามารถจะเปิดบัญชีธนาคารที่สิงคโปร์ได้อย่างเสรี
อย่างน้อยต้องมีคนสิงคโปร์มาการันตีให้ถึงจะเปิดได้