SET

SET FX
Commodities are powered by Investing.com UK

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

จุดจบQE

ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นจุดกำเนิดของนโยบายคิวอีกันก่อน นโยบายนี้เกิดหลังจากเกิดวิกฤตsubprimeในสหรัฐ ในขณะนั้นเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำอย่างรุนแรง เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจก็ขายของไม่ได้ พากันล้มหายตายจากไปจากระบบ คุณลุงเบนหรือประธานธนาคารกลางของสหรัฐเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญของธุรกิจก็คือเงินทุนหมุนเวียน ถ้ามีเงินทุนในธุรกิจมากพอ ธุรกิจจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ไปได้ ดังนั้นจึงได้ออกนโยบายคิวอีมาเพื่อที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบ กดดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อที่จะให้นักธุรกิจและนักลงทุนนำเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำเหมือนได้เปล่านี้ไปพยุงธุรกิจของตนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ไปได้
เจ้าของธุรกิจจะได้ไม่เลิกจ้างงาน คนที่ยังไม่คิดจะทำธุรกิจจะได้พากันมาก่อร่างสร้างธุรกิจกันในช่วงนี้ เมื่อมีธุรกิจก็จะมีการจ้างงาน เมื่อคนมีงานก็จะมีเงินและจะก่อให้เกิดการใช้จ่าย สุดท้ายเศรษฐกิจก็จะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นจากนโยบายการกดดอกเบี้ยให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินของFEDนี้
ผ่านไปห้าปี นโยบายของFEDก็เหมือนจะค่อยๆแสดงผลของมัน เศรษฐกิจสหรัฐเหมือนจะกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปี2012เป็นต้นมา จนคุณลุงเบนคิดว่าจะค่อยๆเลิกนโยบายนี้สักที เพราะจะให้พิมพ์เงินไปตลอดกาลก็ไม่ไหว ตั้งแต่พิมพ์เงินมาหนี้สินต่อGDPของสหรัฐก็พุ่งทะยานฟ้าไปจนจะถึงดาวอังคารแล้ว เมื่อFEDประกาศว่าอยากจะลดขนาดของคิวอีทีละน้อยจนเลิกไปในที่สุด ตลาดหุ้นและราคาสินทรัพย์ต่างๆก็ตอบสนองด้วยการลงอย่างรุนแรง เพราะเงินฟรีๆจะไม่มีอีกแล้ว ความหอมหวานของคิวอีกำลังจะจบลง แต่ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ดูกระเตื้องขึ้นก็ออกมาแย่ต่ำกว่าคาดอีก จนในที่สุดFEDก็ขอใช้คิวอีต่อไป ตลาดหุ้นก็กลับมาขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมรอยยิ้มของนักลงทุน
ดูๆไปแล้วนโยบายคิวอีเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุดลงได้เลย เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐดูเหมือนจะกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยแล้วก็กลับไปทรุดเหมือนเดิม วนเวียนอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จุดจบของคิวอีจะเป็นเช่นไร
ในความคิดของผู้เขียน จุดจบของคิวอีจะไม่ได้มาจากการยกเลิกการใช้นโยบายนี้ของFED แต่จะมาจากวันที่ความโลภได้มาถึงขีดสุดหรือวันที่นักลงทุนทุกคนในตลาดได้เข้าสู่โหมดการกู้ยืมขั้นรุนแรง ในวันนี้เรายังไม่เข้าสู่โหมดนั้นเพราะเรายังคงมีความกังวลที่FEDจะเลิกใช้นโยบายนี้ แต่เราก็เริ่มที่จะเคยชินกับการที่FEDประกาศว่าจะเลิกใช้และสุดท้ายFEDก็กลับมาเพิ่มจำนวนการพิมพ์เงินมากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ จนเรามีความรู้สึกว่าการใช้นโยบายนี้จะมีไปตลอดกาล การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์อย่างรุนแรงจะมีไปตลอดกาล

เมื่อใดก็ตามนักลงทุนเชื่อว่าการขึ้นของสินทรัพย์จะเป็นไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อนั้นเราจะเข้าสู่การกู้ยืมอย่างรุนแรง เพราะเราคิดว่าถึงเราจะกู้มาลงทุนเป็นหนี้หัวโตแค่ไหน เราก็มีปัญญาที่จะใช้หมด เมื่อมาถึงขั้นที่กู้ยืมจนเกินตัวอย่างมโหฬารและsupplyของสินค้าที่เราไปเก็งกำไรมันล้นตลาด เมื่อนั้นก็ถึงจุดจบ